วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่4 27/12/2554

        สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ และเพื่อนๆทุกคน สำหรับการเรียนการสอนในวันนี้อาจารย์ได้เปิดบล็อกของแต่ละคนให้ดู พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการทำบล็อกในหลายๆเรื่องด้วยกัน  ส่วนใหญ่ที่อาจารย์เปิดดูจะไม่มีใครพิมพ์คำว่า แฟ้มสะสมผลงานเลย  จะมีเพียงแต่คำอธิบายบล็อกในรายวิชาเท่านั้น อาจารย์จึงเปิดให้ดูและแนะนำให้เขียนเพิ่มว่า แฟ้มสะสมผลงานรายวิชาด้วย อาจารย์ให้ความหมายของอนุทินว่าอนุทินเป็นการบันทึก และอาจารย์บอกว่าไม่ต้องหาเนื้อหาเพิ่มเติม เอาเฉพาะเนื้อหาสาระสำคัญเท่านั้น หรือถ้าอยากหาเนื้อหาเพิ่มเติมก็สามารถหาได้ โดยอาจารย์ให้คำแนะนำอีกว่า ให้เขียนเพิ่มว่าสิ่งที่อยากหาเพิ่มเติม และอาจารย์ได้พูดในเรื่องของสีที่นักศึกษาทำบล็อกด้วย ใช้สีที่ให้มองเห็นได้ชัด ไม่แสบตา สีที่ไม่สะท้อนแสง เมื่อดูบล็อกเสร็จแล้วอาจารย์จึงเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนว่า ต้องคำนึกถึงหลักในการจัดกิจกรรมให้เด็กด้วย เช่น การจัดบอร์ดหน้าห้องสีที่ต้องห้ามคือ สีสะท้อนแสง ห้ามนำมาทำเป็นแบล็คกราวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เด็กสายตาเสีย และอาจารย์อธิบายเรื่องการทำ Mind Mapping ของงานครั้งที่แล้ว จึงยกตัวอย่างการทำเรื่อง ไข่ รูปไข่เป็นทรงรี เหตุผลที่เราเรียกไข่ว่า ทรง เพราะมีหลายมิติ ได้คณิต >> ในเรื่องของการนับจำนวนไข่ , รูปทรงของไข่ที่เด็กเห็น ได้วิทยาศาสตร์ >> คือไข่เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา สามารถหาได้ตามธรรมชาติ  งานในห้อง อาจารย์ให้แบ่งตามกลุ่ม Mind Mapping ในสัปดาห์ที่แล้ว และให้นำ Mind Mapping ของสัปดาห์ที่แล้วที่มีผู้รับผิดชอบในแต่ละวัน ให้กิจกรรมของแต่ละวันมา 1 กิจกรรม และแตกเป็น Mind Mapping ดังนี้



บรรยากาศในห้องวันนี้  วันนี้อากาศหนาวเหมือนเดิม และยังมีหลอดไฟในห้องเรียนเสีย 1 ดวงด้วย

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่3 20/12/2554

        สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ และเพื่อนๆทุกคน สำหรับการเรียนการสอนในวันนี้อาจารย์ถามนักศึกษาว่า นักทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปฐมวัยมีใครบ้าง เช่น   ฟรอยด์ >> ด้านร่างกาย , อิริคสัน >> ด้านอารมณ์ ,กีเซล >> ด้านสังคม , เพียเจท์ >> ด้านสติปัญญา, ดิวอี้ >> เด็กเรียนรู้โดยผ่านการกระทำ ,สกินเนอร์ >> การเสริมแรงบวก, ฟรอเบล ,เดวิด ,เรกจิโอ เป็นต้น และอาจารย์ได้ยกตัวอย่างการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กตามแนวคิดของ ดร.อัญชลี  ดังนี้
 1.การรู้จักตัวเลข   1 2 3 4 5 6 7 8 9 0
 2.รูปร่างรูปทรง
 3.การนับ  นับแทนค่า
 4.การชั่งตวงวัด  เริ่มมีเครื่องมือเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังเน้นเรื่องปริมาณมากกว่า
 5.การเพิ่มและลดจำนวน
      >> การนับเลข 1 เพิ่มอีก1 เป็น2 เป็นการเพิ่มจำนวน
      >> ถ้าลดจำนวนก็ให้นับคือ มีอยู่10 เอาออก1 เหลือ9 เพื่อให้เด็กได้นับเลขอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
 6.ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนกับตัวเลข  ตัวเลขในเชิงความหมาย ก่อนรู้จักเลข
 7.จำแนกประเภท
 8.การจัดหมวดหมู่
 9.เปรียบเทียบ
     >> เช่นเปรียบเทียบความสูง มีหน่วย มีปริมาณ
 10.เรียงลำดับ
 11.เวลา/พื้นที่
    >> มีความกว้าง แคบ ข้างใน ข้างนอก
จากนั้นอาจารย์สอนร้องเพลงเกี่ยวกับเลขที่เด็กสามารถจำได้ง่าย

  1 2 3 4 5 จับปูม้ามาได้ 1 ตัว
  6 7 8 9 10 ปูมันหนีบฉันต้องส่ายหัว  กลัว  ฉันกลัว  ฉันกลัว ปูหนีบฉันที่แก้ม (รู้จักตัวเลข เป็นการนับแบบปากเปล่า)

1 2  1 2 3 4 5  มาอยู่ที่นี้น่ะแม่ 4 5 6
พี่ไม่หลอก  บอกไม่โกหก  แม่ 4 5 6 7 8 9 10


นี่คือนิ้วมือของฉัน     นิ้วมือของฉันมี 10 นิ้ว
มือซ้ายนั้นมี 5 นิ้ว      มือขวาก็มี 5 นิ้ว
นับ 1 2 3 4 5                นับต่อ 6 7 8 9 10
นับนิ้วจงอย่ารีบนับ 1-10 จำให้ขึ้นใจ

และอาจารย์สอนเรื่องของตัวเลข
      1.การนับ (Counting) หมายถึง คณิตฯเกี่ยวกับตัวเลขอันดับแรกที่เด็กรู้จักเป็นการนับอย่างมีความหมาย  เช่น การนับ ตามลำดับตั้งแต่ 1-10 หรือมากกว่านั้น
      2.ตัวเลข (Numeration) หมายถึง การให้เด็กรู้จักตัวเลขที่เห็น หรือใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ด้วยการให้เด็กเล่นของเล่นเกี่ยวกับตัวเลข ให้เด็กได้นับ และคิดเอง
     3.การจับคู่ (Matching) หมายถึง การฝึกฝนให้เด็กรู้จักการสังเกต

งานที่ได้รับมอบหมายในวันนี้  แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ทำหน่วย 1 หน่วย ไม่ได้กำหนดหัวเรื่อง แตกออกมาในรูปแบบของ Mind Mapping เนื้อหาต้องมีความเหมาะสม มีครบทั้ง 5 วัน จ.-ศ. พร้อมทั้งแต่ละวันต้องมีผู้รับผิดชอบ
บรรยากาศในห้องวันนี้  อากาศหนาว ครื้นเครงบ้างเพราะได้ร้องเพลงกับอาจารย์ ความรู้สึกในการเรียนของดิฉันวันนี้ รู้สึกว่าอาจารย์ยกตัวอย่างเพลงที่เกี่ยวกับตัวเลขมาให้ร้องมีความเหมาะสมกับเรื่องที่เรียนดีค่ะ และตัวดิฉันเองก็มีความเข้าใจในเรื่องที่สอนค่ะ

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่2 13/12/2554

        สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ และเพื่อนๆทุกคน วันนี้เดิมเรียนที่อาคาร4 อาจารย์ให้ย้ายมาเรียนตึกคณะแทน และสำหรับการเรียนการสอนในวันนี้อาจารย์ได้นำเข้าสู่เรื่องคณิตศาสตร์ และอาจารย์วัดความรู้นักศึกษา โดยตั้งคำถามขึ้นมาว่าเครื่องมือที่ใช้วัดทางคณิตศาสตร์มีอะไรบ้าง สรุปได้ดังนี้ มีการนับ ระยะทาง เวลา สถานที่ ความสัมพันธ์ 2 แกน การสื่อสาร เป็นต้น จากนั้นอาจารย์ทบทวนว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาส่งงานอะไรไปบ้างแล้ว 1.ทำบล็อกเกอร์ 2.หาชื่อหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องคณิตศาสตร์ 3.หามาตรฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ และอาจารย์ได้สอนเกี่ยวกับมาตรฐาน การเรียนรู้ คณิตศาสตร์ ซึ่งรวมประโยคกันแล้วจะมีความหมายคือ เกณฑ์ในการที่เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางคณิตศาสตร์ เช่น การนับ เวลา ฯลฯ เกณฑ์ที่ครูปฐมวัยจะพัฒนาในการเรียนการสอนเด็กให้เป็นไปตามระดับช่วงอายุของเด็ก และอาจารย์ถามว่าวิชา การจัดประการณ์ทางคณิตศาสตร์ให้ความหมายว่าอย่างไร
        - การจัดประสบการณ์ หมายถึง เทคนิควิธีการสอน
        - ทางคณิตศาสตร์ หมายถึง เครื่องมือต่างๆทางคณิตศาสตร์ เช่น การวัด
วิธีการจัดกิจกรรมให้เด็ก โดยที่เด็กได้เรียนรู้ทางคณิตศาสตร์จะมีวิธีการจัดให้กับเด็กอย่างไร ตัวอย่าง เช่น การเข้าแถวในเวลาตอนเช้า โดยมีเกณฑ์ว่าเวลา 8.00 น. เด็กต้องมาเข้าแถว และใครมาหลัง 8โมงให้นับว่ามาสาย และให้เด็กนับจำนวนว่า มาก่อน 8โมง มีกี่คน หลัง 8โมง มีกี่คน จากนั้นให้เด็กเปรียบเทียบว่าจำนวนใดมากกว่า หรือ น้อยกว่ากัน เด็กก็จะได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ในเรื่องการนับผ่านกิจวัตรที่ใกล้ตัวเด็กเอง 
        จากนั้นอาจารย์ให้แบ่งกลุ่มกลุ่มละ 5 คน อาจารย์แจกแผนการสอนมากลุ่มละ1 เล่ม อาจารย์ให้ดูแผนการสอนของกลุ่มดิฉันได้  หน่วย"อากาศ"  และอาจารย์ให้หาสิ่งที่เป็นคณิตศาสตร์ และให้แต่ละกลุ่มบอกมากลุ่มละ 1 อย่าง แล้วให้ดูกิจกรรมในแผนว่าอะไรที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และมีความสัมพันธ์กัน สรุปของแต่ละกลุ่มได้ดังนี้
     1. หน่วย น้ำ >> หาปริมาณ สังเกตปริมาณน้ำ 2 ขวด ปิดฝา/เปิดฝา
     2. หน่วย อากาศ >> หาจำนวน นับจำนวนสมาชิกในกลุ่ม (กลุ่มของดิฉัน)
     3. หน่วย วันพ่อ >> หาการเปรียบเทียบ สีเข็ม สีอ่อนของดอกไม้
     4. หน่วย ชุมชนของเรา >> หารูปร่าง รูปทรง สังเกตดูว่าโรงเรียน วัด บ้าน มีรูปร่างเป็นอย่างไร
     5. หน่วย นกน้อย >> หาพื้นฐานการบวก
     6. หน่วย ฤดูร้อน >> หาลำดับ
เมื่อหาความสัมพันธ์เสร็จแล้ว อาจารย์ให้แต่ละกลุ่มคิดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับคณิตศาสตร์ กลุ่มดิฉันเรื่องจำนวน กลุ่มดิฉันให้เด็กนับจำนวนเด็กที่นั่งรถรับ-ส่ง มาเรียนด้วยกัน อาจารย์ถามว่า คณิตเชิงเหตุผล นักศึกษาจะนึกถึงอะไร นึกถึงสมอง การทำงานของสมอง และสมองทำงานสัมพันธ์กับพัฒนาการ อาจารย์จึงยกตัวอย่างทฤษฎีทางสติปัญญาขึ้นมา แรกเกิด-2ปี การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา จมูก ปาก หู กาย  อายุ 2-4ปี  ขั้นก่อนปฎิบัติการ เช่น เรียกแม่ หิวข้าว อายุ 4-6ปี ขั้นปฎิบัติการ ใช้ประโยคมากขึ้นแต่ยังไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้แล้วเราต้องปรับความรู้เดิมให้เข้ากับความรู้ใหม่ เพื่อความอยู่รอด

บรรยากาศในห้องวันนี้ วันนี้ในห้องอากาศหนาวมาก ไม่ค่อยครึกครื้นมากนักอาจเป็นเพราะอากาศที่หนาว ความรู้สึกในการเรียนวันนี้ ดิฉันรู้สึกว่าการเรียนรู้ของดิฉันในวันนี้เข้าใจที่อาจารย์สอน และอาจารย์เริ่มต้นการสอนได้ดี การนำเข้าสู่บทเรียนก็เข้าใจและตรงประเด็นเรื่องคณิตศาสตร์ และดิฉันรู้สึกว่าไม่ชอบอากาศหนาว เพราะมันทำให้ดิฉันคิดอะไรไม่ค่อยออกมากนัก

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่1 06/12/2554

         สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ และเพื่อนๆทุกคน สำหรับการเรียนวันนี้เป็นการเปิดเรียนวันแรก  อาจารย์ได้พูดคุยสนทนาเรื่องที่จะสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กปฐมวัย เราต้องเลือกหน่วยที่เหมาะสมกับเด็ก คือ สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็กและมีอิทธิพลต่อเด็ก
มาตรการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก รวมทั้งเป็นแนวทางในการกำกับ ตรวจสอบและประเมินผล มาตรฐานการเรียนรู้จัดให้อยู่ใต้สาระหลัก ดังนี้
        สาระที่ 1 : จำนวนและการดำเนิน มาตรฐาน ค.ป.1.1 :เข้าใจถึงความหลากหลายของการแสดงจำนวนและการใช้จำนวนในชีวิตจริง
        สาระที่ 2 : การวัด มาตรฐาน ค.ป.2.1 : เข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการวัด ความยาว น้ำหนัก ปริมาตร เงิน และเวลา
       สาระที่ 3 : เรขาคณิต มาตรฐาน ค.ป.3.1 : รู้จักใช้คำในการบอกตำแหน่ง ทิศทาง และระยะทาง มาตรฐาน ค.ป.3.2 : รู้จักจำแนกรูปเรขาคณิต และเข้าใจการเปลี่ยนรูปเรขาคณิตที่เกิดจากการจัดกระทำ
      สาระที่ 4 : พีชคณิต มาตรฐาน ค.ป.4.1 : เข้าใจแบบรูปและความสัมพันธ์
      สาระที่ 5 : การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็นมาตรฐาน ค.ป.5.1 : รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมและนำเสนอ
      สาระที่ 6 : ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ การจัดการประสบการณ์การเรียนรู้ ครูควรคอยสอดแทรกทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ตามความเหมาะสมกับระดับอายุ

บรรยากาศในห้องวันนี้  ยังไม่ค่อยลงตัวมากนักอาจเป็นเพราะการเปิดเทอมวันแรก ความรู้สึกในการเรียนวันนี้ รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ เพราะอยากรู้ว่าคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับเด็กจะเป็นเนื้อหาแบบไหน ยากหรือเปล่า

งานที่ได้รับมอบหมายในวันนี้
    1. งานเดี่ยว หามาตรฐานคณิตศาสตร์ในระดับอายุ  3-6 ขวบ แบ่งเป็นระดับ มีอะไรบ้าง
    2. งานกลุ่ม ไปสำรวจหนังสือที่ห้องสมุด หนังสือที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ โดยกำหนดว่ามี ชื่อหนังสือ เลขหมู่ ชื่อผู้แต่งให้ได้เยอะที่สุด (ไม่กำหนดระดับชั้นการเรียน)  แล้วสรุปลงบล็อก